จิตวิทยา การสร้างนิสัย เพื่อ การประยุกต์ใช้ใน การออกแบบเกม by

29
Apr
2

สวัสดีทุกคนนะครับ เนื้อหาที่จะพูดถึงต่อไปนี้จะเกี่ยวกับจิตวิทยา เกี่ยวกับนิสัยคน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบเกมครับ

เนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก เกี่ยวกับว่า นิสัยมีองค์ประกอบยังไง? เราจะสร้างนิสัยได้อย่างไร? เนื้อหาในส่วนนี้ ผมอ่านมาจากหนังสือ “The Power of Habit” หรือในชื่อไทย “สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยนิสัยแค่ 1%” ของสำนักพิมพ์ “WE Learn” ครับ… จะว่าไปแล้ว… จะโดนฟ้องมั้ยเนี่ย… “=  w=)

เนื้อหาส่วนที่ 2 จะเป็นการยกตัวอย่าง เกม และ องค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้เพื่อการสร้างนิสัยให้ผู้เล่นครับ

ผมยังเขียนบทความไม่เก่งเท่าไหร่ อาจจะน่าเบื่อไปซักหน่อย ขออภัยด้วย นะครับ ;; w;;

เนื้อหาส่วนที่ 1 จิตวิทยาว่าด้วยนิสัย 

ทุกคนเคยสังเกตุกันบ้างมั้ยครับ? สมัยที่ เราหัดขับรถช่วงแรกๆ (หรือถ้าใครยังก็ให้นึกถึงตอนปั่นจักรยานแรกๆ นะครับ) ในตอนแรกๆ ขณะที่คุณจะถอยรถออกจากบ้าน คุณต้องเพ่งสมาธิ ขนาดไหนครับ? กว่าที่คุณจะ สตาร์ทรถ ปรับเบาะ เปลี่ยนเกียร์ กะระยะ ระวังข้าง ระวังหลัง เหยียบคันเร่งแล้วแตะเบรกเบาๆ (หรือในกรณีคุณที่หัดขี่จักรยาน ให้ลองนึกว่า ครั้งแรกที่ปั่นจักรยานคุณเกร็งแค่ไหนกัน ไหนจะระวังไม่ให้ล้ม ไหนจะระวังจักรยานที่จะปั่นแซงมาจากด้านหลัง…) แล้ว.. หลังจากนั้นมา เมื่อขับรถ หรือขี่จักรยานคล่องขึ้นแล้วกิจวัตรพวกนี้ เป็นอย่างไรบ้างครับ? คุณสามารถที่จะขับรถไปด้วยในขณะที่หาร้านอาหาร หรือ แม้แต่ กดโทรศัพท์ส่งข้อความ คุณสามารถที่จะ ปั่นจักรยานขณะชมวิวไปด้วยได้แม้พื้นถนนจะขรุขระ

ถามว่า… ในตอนนี้ ทำไมเราถึงทำได้อย่างง่ายดาย ในบางครั้ง เราสามารถทำได้ โดยไม่ต้องคิดเลยใช่ไหมครับ?  นั่นเป็นเพราะว่า สมองของคนเรานั้น จะพยายามหาเครื่องทุ่นแรงให้ตัวเอง ดังนั้น เครื่องทุ่นแรงที่สมองนำมาใช้คือ “นิสัย” ครับ มีกิจวัตรที่ซับซ้อนหลายๆอย่าง ที่เราๆ ทำกันได้โดนอัตโนมัติโดยแทบจะไม่ต้องคิดเลย นั้นเป็นเพราะ สมองได้สร้างนิสัย สำหรับทำสิ่งนั้นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของสมองลงครับ ขณะที่เรากำลังทำกิจวัตรนั้นๆอยู่ เมื่อมีการนำนิสัยมาใช้ สมองก็จะทำงานกับเรื่องนั้นน้อยลง ทำให้เราสามารถนำสมองไปทำอย่างอื่นได้ครับ (เช่นการดูทีวี อ่านหนังสือ ขณะทานข้าว)

แต่ทว่า หากเราใช้นิสัยทำอะไรโดยอัตโนมัติไปทั้งหมด.. อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้… หากสมองทำงานน้อยลงในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่มีอะไรผิดปกติ เช่น มีรถขับรถซิ่งพุ่งมาทางซ้าย (หรือหลุมขนาดใหญ่ที่อยู่บนพื้น) สมองของคนเรา จึงมีการพัฒนาเพื่อคอยดูสิ่งกระตุ้น เพื่อเลือกนิสัยที่จะนำมาใช้ให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์ครับ (เช่นการเลี้ยวหลบขณะเจอหลุม หรือ ขับหลบรถที่กำลังจะขับปาดจากทางซ้าย)

จากที่กล่าวมาถึงตอนนี้ เราจะเห็นองค์ประกอบของนิสัย 2 อย่างแล้วนะครับ

  1. สิ่งกระตุ้น สำหรับให้สมองเลือกนิสัยที่จะนำมาตอบสนอง
  2. การกระทำ,กิจวัตร ที่เราจะทำเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น

เนื้อหาช่วงท้าย ของส่วนแรก จะพูดถึงเรื่อง การสร้างนิสัยใหม่ครับ เอ่อ… การที่ผมพูดแบบนี้เนื้อหาอาจจะดูรุนแรงสำหรับบางท่านสักหน่อย ต้องขออภัยด้วยนะครับ มีใครเคยฝึกสุนัขไหมครับ? บางคนจะมีการฝึกสุนัขให้นั่งรออาหาร หรือฝึกให้ทำตามคำสั่งต่างๆ… นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนิสัยครับ ถามว่าสิ่งที่จำเป็นในการฝึกเพื่อสร้างนิสัยใหม่ คืออะไรครับ..?   สิ่งนั้นก็คือ “ของรางวัล” ครับ (ในกรณีการฝึกสุนัข ของรางวัลคืออาหาร หรือขนมครับ) บางคนอาจจะรู้สึกแย่อยู่บ้าง.. แต่มันเป็นเรื่องปกตินะครับ นึกถึง การให้ดาวในการเรียนการสอนชั้นอนุบาล หรือ การที่เวลาเราทำงานดีแล้วได้เงินโบนัสก็ได้ครับ มีลักษณะเหมือนกัน

จากเนื้อหาทั้งหมดที่กล่าวมาเราจะสามารถสรุปได้ว่า การสร้างนิสัยใหม่ๆนั้น เราต้องคำนึงถึง 3 อย่างได้แก่

  1. สิ่งกระตุ้นที่เรียบง่าย ชัดเจน เพื่อให้สมองเลือกกิจวัตรที่จะมาตอบสนอง
  2. กิจวัตร ที่ทำเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น
  3. รางวัล ที่ชัดเจน

เนื้อหาส่วนที่กล่าวมานี้ เป็น รุ่นย่นย่อสุดๆแล้ว เนื่องจากผมกลัวว่าบทความนี้จะยาวเกินไป ; w;”  หากท่านใดที่สนใจเนื้อหาเชิงลึก สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ท่านที่สนใจ อ่านบทความที่ผมพิมพ์ไม่ค่อยรู้เรื่อง ( ขออภัยมา ณ ที่นี้นะครับ ; w;” ) แนะนำให้ลองซื้อหนังสือเล่มนี้มาลองอ่านดูนะครับ

ขอบคุณภาพจาก www.naiin.com นะครับ

เนื้อหาส่วนที่ 2 ตัวอย่างเกมที่มีการนำการสร้างนิสัยไปใช้

      การสร้างนิสัย จากที่ได้กล่าวถึงในเนื้อหาส่วนแรก บางคนอาจจะรู้สึกไม่คุ้นเคย แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าทุกคนต้องเคยเจอกันมาบ้างแล้วครับนอกจากการสร้างนิสัยที่เป็นเรื่องกิจวัตรประจำวันต่างๆของเราแล้ว… จริงๆ แล้ว ก็มีคนนำการสร้างนิสัยนี้ ไปใช้ในด้านธุรกิจด้วยครับ

ยกตัวอย่างเช่น โฆษณายาสีฟัน “เปปโซเดนท์” ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900

“ลองใช้ลิ้นถูฟันดูสิ คุณจะพบว่า ฟันของคุณมีเมือกเคลือบอยู่ มันจะทำให้ฟันของคุณเปลี่ยนสี และ เป็นสาเหตุของฟันผุ! คนหลายล้านพากันใช้วิธีทำความสะอาดฟันแบบใหม่ ทำไมคุณผู้หญิงปล่อยให้มีเมือกสกปรกเกาะฟันล่ะ ใช้เปปโซเดนท์กำจัดเมือกเคลือบฟันสิ!”

จากโฆษณานี้คนส่วนหนึ่ง (อย่างน้อยก็ผมล่ะ) เมื่ออ่านประโยคที่ว่า “ลองใช้ลิ้นถูฟันดูสิ” จะลองใช้ลิ้นตัวเองถูฟันดูจริงๆ และพบเมือกเกาะอยู่จริงๆด้วย! การที่เอาลิ้นถูฟันแล้วเจอเมือก จะทำให้เรารู้สึกว่าฟันเราไม่สะอาด ซึ่งนี่ก็คือ สิ่งกระตุ้น ครับ หากถามว่า… รางวัลในการสร้างนิสัยนี้คืออะไร คำตอบก็คือ “การรู้สึกสะอาด” ครับ (จริงๆเนื้อหาส่วนนี้มีรายละเอียดเชิงลึกกว่านี้ อยู่ในหนังสือ ที่แนะนำไว้นะครับ)

หรือตัวอย่าง นิสัยที่เกิดขึ้นกับคนในยุค Social ในปัจจุบัน นิสัยที่เกิดขึ้นก็คือ การติด Social Network ครับ… ถามว่า นิสัยนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? มันมีองค์ประกอบต่างๆดังนี้ครับ

  1. สิ่งกระตุ้น การได้รับ notification (เช่นบน Facebook)
  2. กิจวัตร คือ การเปิดดู notification (อ่านข้อความ ฯลฯ)
  3. รางวัล คือ ความเพลิดเพลินจากการอ่าน/ตอบ ข้อความครับ

ด้วย 3 องค์ประกอบที่ว่ามานี้ เป็นการสร้างนิสัย ติด Social network ในปัจจุบันครับ

จากตรงนี้ผมจะขอยกตัวอย่างเกมที่มีการสร้างนิสัยให้ผู้เล่นกับองค์ประกอบที่ใช้นะครับ ในที่นี้ผมจะขอยกตัวอย่าง เกมที่ผมเคยติดมาก่อนนะครับ ได้แก่เกม League of Legends , Cookie run แล้วก็ Heart Stone ครับ

ขอขอบคุณภาพจาก www.compgamer.com ครับ

นิสัยที่เกิดขึ้นในเกม League of Legends คืออะไร..? สำหรับท่านที่เคยเล่นน่าจะเคยประสบอยู่บ้าง นิสัยที่ว่าคือ การที่ใน 1 วันจะต้องเก็บ First win ครับ 

ในเกม League of Legend จะมี Bonus ที่เรียกว่า First win ซึ่งจะได้ในการเล่นชนะครั้งแรกในแต่ละวัน ซึ่งเมื่อชนะแล้วจะต้องรอ 24 ชั่วโมงจึงจะเก็บโบนัสครั้งถัดไปได้ ซึ่ง Bonus ที่กล่าวมานี้ ก็ให้เงินในเกมเยอะทีเดียวครับ

องค์ประกอบต่างๆในการสร้างนิสัยเล่นเก็บ First Win นี้ คือ

  1. สิ่งกระตุ้นคือ เวลาที่เริ่มเก็บ first win ครั้งถัดไปได้ เมื่อครบกำหนดเวลาจะเกิดการกระตุ้นผู้เล่นขึ้น
  2. กิจวัตร การเล่นจนกว่าจะชนะ เพื่อเก็บ Bonus First Win
  3. รางวัล คือ ปริมาณเงินที่ได้จาก Bonus สำหรับนำไปซื้อของในเกม ครับ

ตัวอย่างถัดไปนะครับ

ขอขอบคุณภาพจาก www.elite-games.ru นะครับ

Heart stone เป็นเกมการ์ดของค่าย Blizzard ครับ ถามว่าผมติดนิสัยอะไรในการเล่นเกมนี้..? นิสัยที่เกิดขึ้นก็คือ การเล่นเก็บ Quest รายวัน คล้ายๆกับการเก็บ First Win ในเกม League of Legend นั่งเองครับ

ในแต่ละวัน จะมี Daily Quest ให้ผู้เล่นทำ ซึ่งปริมาณเงินที่ได้จาก Quest จะมากกว่าที่ได้จากการเล่นทั่วไปมาก (ปกติต้องเล่นชนะ 3 ครั้งถึงจะได้ 10 เหรียญทอง)

เงินที่ได้จาก Quest ผู้เล่นก็จะนำไปใช้ในการเปิดซอง เพื่อหาการ์ดใหม่มาเล่น

โปรดสังเกตุราคาการ์ดแต่ละซอง ซึ่งการเล่นธรรมดา กว่าจะเก็บเงินถึงจะต้องใช้เวลานานมาก

ขอขอบคุณภาพจาก nutnarukex ครับ

องค์ประกอบของนิสัยที่ผมติดในเกมนี้ ก็จะเหมือนกับเกม League of Legend ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ครับ

  1. สิ่งกระตุ้นคือ Quest ใหม่ที่จะมาเป็นรายวัน
  2. การกระทำคือ การเล่นเพื่อเคลียร์ Quest ทั้งหมด เพื่อรับรางวัล
  3. รางวัล คือ การเปิดซอง เพื่อให้ได้การ์ดใหม่มาเล่นครับ

ต่อไปเป็น ตัวอย่างเกมสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในบทความนี้นะครับ นั่นก็คือ

ขอขอบคุณภาพจาก http://game.tlcthai.com/ นะครับ

นิสัยที่เกิดขึ้นในการเล่นเกม Cookie run จะมีความแตกต่างจาก 2 เกมที่กล่าวมาข้างบนเล็กน้อย นิสัยที่เกิดขึ้นในเกม Cookie run คืออะไร? นิสัยที่ว่า คือ การส่งหัวใจให้เพื่อนไปๆมาๆ ครับ (หัวใจที่ว่า เปรียบเสมือน energy ที่เอาไว้ใช้ในการเล่นเกมครับ)

ในเกม Cookie run จะมีรายชื่อเพื่อนที่ส่งหัวใจให้เรา และ จะมีปุ่มสำหรับกดส่งหัวใจให้เพื่อนกลับครับ

รายชื่อเพื่อนที่ส่งหัวใจมา สำหรับให้เรารับและส่งกลับครับ

ถามว่า สิ่งที่เราจะได้รับนอกจากหัวใจแล้ว เราจะได้ แต้ม gift point

ซึ่ง แต้ม gift point จะนำไปใช้สุ่มของรางวัล

องค์ประกอบในการสร้างนิสัยส่งหัวใจให้กันในเกมนี้คือ

  1.  สิ่งกระตุ้น คือ รายชื่อเพื่อนที่ส่งหัวใจให้เรา
  2. กิจวัตร คือ การที่เราส่งหัวใจกลับไปให้คนนั้น
  3. รางวัล คือ energy สำหรับใช้เล่นเกม และ การได้เสี่ยงโชค

จากเนื้อหาที่สรุปมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การสร้างนิสัยอะไรให้ผู้เล่นนั้นจะทำให้เราสามารถควบคุมผู้เล่นได้มากขึ้น ในระดับหนึ่ง ซึ่ง เราจะสามารถนำมันไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบเกมได้

เนื้อหาที่ผมเอามาพิมพ์ลงนี้ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่ามาจากหนังสือ “The Power of Habit” ซึ่ง เนื้อหาที่ผมนำมาลงนี้ เป็นเพียงส่วนเดียว และเป็นเนื้อหาเพียงผิวเผิน  หากใครสนใจ หรือต้องการข้อมูลเชิงลึกกว่านี้ (มีการทดลองประกอบด้วย) ผมแนะนำให้ไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพิ่มเติมนะครับ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ตามอ่านมาจนจบ หากบทความ มีความผิดพลาดประการใด ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

หากมีตรงไหนน่าปรับปรุงแก้ไข รบกวนขอคำแนะนำด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ

Enjoy this article?

Consider subscribing to our RSS feed!

2 ความเห็น

  1. jeking
    11:12 on April 29th, 2014

    ขอบคุณครับ ได้ความรู้เยอะเลย

  2. SBOBET
    16:02 on April 21st, 2015

    ผมได้เปิดหู เปิดตาเยอะเลยนะครับเนีย

ใส่ความเห็น

RSS feed for comments on this post

 เราชนะรอบ 4 | ยืมเงิน 3000 ด่วน | แอพกู้เงิน | แอพเงินด่วน | สินเชื่อออนไลน์อนุมัติทันที | Site Map | กู้เงินก้อน | กระเป๋าตัง | thisshop และ ยืมเงินฉุกเฉิน 5000 ด่วน